การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ "การประกวดวงดนตรีไทยร่วมสมัย" "Thai Contemporary Music Contest "

          กิจกรรมการประกวดดนตรีไทยและดนตรีสากล ร่วมกันเป็นครั้งแรกในการถ่ายทอดสืบสานวัฒนธรรมไทย ในเวทีการประกวดวงดนตรีไทยร่วมสมัย หรือ Thai Contemporary Music Contest ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยบริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด ร่วมกับ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เปิดโอกาสเยาวชนไทยระดับมัธยมศึกษา ในการโชว์ความคิดสร้างสรรค์ผสมผสานเอาเครื่องดนตรีไทยหรือเครื่องดนตรีพื้นบ้านมาประยุกต์เล่นร่วมกับเครื่องดนตรีสากล เพื่อถ่ายทอดสืบสานเอกลักษณ์ความเป็นไทยในทำนองของดนตรีไทยและดนตรีสากลร่วมสมัย เพื่อยกระดับมาตรฐานดนตรีไทยร่วมสมัยคู่สังคมไทย

ดนตรีร่วมสมัย (Contemporary Music)
ประพันธ์ ศักดิ์ พุ่มอินทร์
                    ก่อนจะเป็นดนตรีร่วมสมัย ดนตรี เป็นศาสตร์แห่งเสียง เป็นสุนทรียศาสตร์แขนงหนึ่งที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมาทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่มนุษย์ได้รู้จักการสื่อสารด้วยวิธีการต่าง ๆ ดนตรีนับเป็นภาษาสำหรับการสื่อสารในเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงอารมณ์ การแสดงความเป็นพวกเดียวกัน การอ้อนวอนเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย การแสดงความสุข ความทุกข์ ฯลฯ แม้ในปัจจุบันดนตรีมีวิวัฒนาการมาตามยุคสมัย ตามลำดับ แต่หน้าที่พื้นฐานของดนตรีก็ยังคงไม่ต่างไปจากเมื่อหลายพันปีที่แล้ว ดนตรียังคงเป็นเครื่องมือแสดงอารยธรรมของมนุษย์ต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่ ศักดิ์ชัย หิรัญรักษ์ ให้ความเห็นว่า เมื่อเราหันมาพิจารณาว่า ดนตรีถูกสร้างขึ้นมาทำไม จะพบว่าดนตรีถูกสร้างขึ้นมารับใช้มนุษย์ในหลายบทบาทหลายหน้าที่ และหน้าที่หนึ่งที่ดนตรีถูกสร้างขึ้นมาก็เพื่อนำเสนอในรูปแบบของอารมณ์ ความรู้สึก งานศิลปะช่วยให้มนุษย์สามารถแสดงออก ถ่ายทอดความรู้สึก ความนึกคิด และดนตรีก็เป็นศิลปะชั้นสูงสุดที่อยู่ในรูปของนามธรรมอันไร้ขอบเขตข้อจำกัดที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมา ยุคสมัยต่าง ๆ เป็นตัวแบ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ บนโลก โดยเริ่มต้นตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ สมัยอารยธรรมโบราณ สมัยต้นและกลางคริสต์ศตวรรษ สมัยบาโรค สมัยคลาสสิค สมัยโรแมนติค และสมัยปัจจุบัน
                    การดนตรีในยุคต่าง ๆ ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถบ่งบอกได้ว่ามาจากยุคใดและมีบทบาทอย่างไร ดังที่ ละเอียด เหราปัตย์ กล่าวว่า ดนตรีในสมัยดึกดำบรรพ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์มากกว่าในสมัยปัจจุบัน เป็นการแสดงออกถึงจิตวิทยา สังคม ศาสนา สิ่งสักการะบูชา และภาษา เพลงทุกเพลงในสมัยดั้งเดิมจะต้องมีความหมายทั้งสิ้น การจะเข้าใจในเพลงนั้น ๆ อย่างถูกต้องแท้จริงจะต้องไปศึกษาจากชาวพื้นเมืองที่เป็นเจ้าของบทเพลงนั้น
ดนตรีสมัยดึกดำบรรพ์มีหน้าที่ 2 ประการสำคัญ คือ
(1) ก่อให้เกิดความตื่นเต้น เร้าใจ
(2) ทำให้เกิดความผ่อนคลาย ความสุข
                    ต่อมาในอารยธรรมโบราณ (Ancient Civilization) ความเจริญของโลกมีอยู่ในภูมิภาคตะวันออก ชาติที่มีความเจริญทางด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น จีน ไทย อินเดีย ฯลฯ และภูมิภาคยุโรปตะวันออก เช่น อียิปต์ ซุเมอร์ บาบิโลเนียน จูเดีย และกรีก ดนตรีทั้งในเอเซีย และยุโรปตะวันออก ได้เริ่มมีวิวัฒนการขึ้น โดยมีการคิดค้นบันไดเสียงเพื่อแบ่งแยก จัดระบบเสียงเป็นของแต่ละชนชาติขึ้นมา เอกลักษณ์นี้ยังคงมีร่องรอยอยู่ในยุคปัจจุบัน เช่น บันไดเสียงเพนทาโทนิค (Pentatonic Scale) ก็ยังคงมีใช้กันในดนตรีภูมิภาคเอเซีย แต่มีความแตกต่างไปในสำเนียงและการจัดระบบเสียง
                   ดนตรีกรีกโบราณ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมดนตรีของดนตรีตะวันตกที่ยิ่งใหญ่ คือ เมื่อประมาณ 1000 ปีก่อนคริสตกาล มีการคิดค้นการแบ่งระบบเสียงอย่างชัดเจนด้วยแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ โดยนักปราชญ์กรีก คือ พิธากอรัส และมีการคิดเรื่องเครื่องดนตรีประกอบการร้อง มีการใช้เทคนิคการประพันธ์เพลงโดยใช้ Mode ซึ่งมีที่มาจากระบบเตตร้าคอร์ด (Tetrachord) ก่อให้เกิดบันไดเสียงโบราณต่างๆ เป็นปัจจัยพื้นฐานของการดนตรีในยุคต่อ ๆ มา จากความเชื่อในเรื่องคริสตศาสนา ก็ให้เกิดยุคทางดนตรีที่สำคัญ คือ ยุคเพลงสวด (Plainsong) ประสิทธิ์ เลียวสิริพงศ์ ได้กล่าวว่า ยุคนี้มีช่วงเวลาประมาณ ค.ศ.200-800 การดนตรียุคนี้ได้รับอิทธิพลมาจากแหล่งสำคัญ 3 แห่ง คือ ไบแซนไทล์ (Byzantine) ในเอเชียไมเนอร์ , แหล่งต่อมาคือ ซีเรีย (Syria) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันในสมัยนั้น และแหล่งที่ 3 คือ เพลงสวดของชาวฮีบูรว์ (Hebrew) ในปาเลสไตน์ จากการศึกษาความนิยมของบทเพลงสวดในยุคเพลง พบว่าเพลงสวดแบบ เกรกอเรียน ชานต์ (Gregorian chant) ซึ่งเรียกชื่อตามองค์สันตะปาปา Gregory the Great มีอิทธิพลต่อดนตรีในยุคต่อมามาก การใช้บันไดเสียงเพื่อการประพันธ์เพลงมีการใช้ Mode อย่างเด่นชัด และมีนอกเหนือจากการใช้ Mode ทางบันไดเสียงแล้ว ยังมีการใช้ Mode ของจังหวะด้วย เพื่อเป็นรูปแบบของการวางเนื้อเพลง และสร้างทำนองขึ้น จุดเปลี่ยนของการดนตรีได้เกิดขึ้นอีกครั้งในยุคกลาง (Middle Ages) ค.ศ. 800-1400 จากการพัฒนาของเพลงสวดแนวเดียว สู่เพลงสวด 2 แนว โดยมีการใช้ขั้นคู่เข้ามาในการประสานเสียง เรียกว่า ออร์แกนนุม (Organum) และเนื่องจากมีนักดนตรีอิสระจำพวกหนึ่งที่ไม่ได้เล่นดนตรีรับใช้พระเจ้า ได้ตั้งกลุ่มเล่นดนตรีโดยเร่ร่อนแพร่ขยายวัฒนธรรมการดนตรีไปทั่วภูมิภาคยุโรป จึงเกิดเป็นดนตรีฆราวาส (Secular Music) ขึ้น จากจุดนี้ชี้ให้เห็นว่าดนตรีได้แปรเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับใช้ศาสนา มาสู่การรับใช้คนในสังคม และทำให้เกิดรสนิยมทางการดนตรีในยุโรปที่พระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านายสูงศักดิ์ ต้องมีวงดนตรีไว้ประจำราชวัง เพื่อประดับบารมีหรือเพื่อความบันเทิงในยุคต่อ ๆมา ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) ค.ศ. 1400-1600 ได้มีความเชื่อว่าอารยธรรมตนเป็นตัวแทนของการเกิดใหม่ ดังนั้นทัศนคติต่อการดำรงชิวิตจึงมีความแตกต่างไปจากยุคกลาง ดังที่ ศศี พงศ์สรายุทธ ให้ความเห็นว่า ทัศนะการมองโลกของคนในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการเป็นผลมาจาก
(1) การศึกษาและการพิมพ์ขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1440 ทำให้เกิดการแพร่กระจายวิชาแขนงต่าง ๆ
(2) มีการคิดค้นดินปืนและทำลายระบบอัศวิน
(3) เริ่มมีเข็มทิศเกิดขึ้น ทำให้มนุษย์ท่องเที่ยวโลกได้กว้างขวาง ความเชื่อเรื่องการดำรงชีวิต คือ การอยู่กับปัจจุบันอย่างมีเหตุผล
                    การดนตรีในยุคนี้จึงมีแนวโน้มที่จะรับใช้สังคมมนุษย์มากกว่าศาสนา พิชัย วาสนาส่ง ได้ให้แนวความคิดอย่างสนใจว่า ดนตรีคลาสสิกเริ่มเกิดขึ้นในสมัยบาโรก (Baroque) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง คริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 โดยคริสต์ศาสนามีบทบาทสำคัญเชื่อมโยงพลังทางงานศิลป์ให้มีความอลังการในทุกแขนง การประดับประดาอาคาร สถาปัตยกรรมที่งดงามวิจิตร เหล่านี้ย่อมส่งผลต่องานประพันธ์ดนตรีด้วย ดุริยกวี เช่น คลอดิโอ มอนเตเวร์ดี โดเมนิโค สคาร์ลาตตี วิวาลดี ได้สร้างรากฐานชิ้นงานคีตนิพนธ์ต่าง ๆ มากมาย ทั้งในเชิงของทฤษฎีการดนตรีที่มีรูปแบบของ Tonal Music อย่างชัดเจน รูปแบบการประพันธ์เพลงที่มีแบบแผนเฉพาะ ขีดจำกัดของเครื่องดนตรีได้ขยายขอบเขตขึ้น เช่น เครื่องสายตระกูลไวโอลิน พัฒนาถึงจุดสุดยอดสามารถรองรับบทประพันธ์ที่มีความซับซ้อนได้ อีกมุมมองหนึ่งระบบอุปถัมภ์ช่วยให้ความเจริญก้าวหน้าของศิลปะเป็นไปได้อย่างกว้างขวาง ผู้มีความรู้ความสามารถได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ถ้าเราพิจารณาตามที่ พิชัย วาสนาส่ง ได้กล่าวไว้ข้างต้น ดนตรีคลาสสิกในนัยความหมายของท่าน คือ ดนตรีที่มีรูปแบบการประพันธ์ที่แน่นอน มีระเบียบ ข้อกำหนด ทฤษฎีอย่างชัดเจน ซึ่งในก่อนหน้ายุคบาโรกยังไม่มีเอกลักษณ์เด่นชัดเท่า ดังนั้น ความเป็นดนตรีคลาสสิกจึงกินขอบเขตของยุคบาโรกเรื่อยมาสู่ยุคคลาสสิก ซึ่งมี ไฮเดิน (Haydn) เป็นผู้บุกเบิกแนวทาง และสานุศิษย์อย่าง โมซาร์ท (Mozart) และ บีโธเฟ่น (Beethoven) ได้ยึดถือปฏิบัติในงานประพันธ์ของตนเอง แต่วิธีการประพันธ์เพลงแตกต่างจากยุคบาโรก ดังที่ ประสิทธิ์ เลียวสิริพงศ์ กล่าวว่า ดนตรีคลาสสิกยุคต้นนั้น เน้นการประสานเสียงที่ให้ Texture แบบ homophony แทน counterpoint และมีเทคนิคของแนวเบสแบบใหม่ที่เรียกว่า Alberti Bass เข้ามาแทนที่ Basso Continuo ทางด้านเครื่องดนตรีก็มีการพัฒนาแตกต่างไปจากเดิม เช่น เกิด Pianoforte , เครื่องเป่ามีกลไกกระเดื่องทำงานได้ดีขึ้น การประสมวงดนตรีจึงเปลี่ยนแปลงไป ยุคสุดท้ายที่จะได้กล่าวในบทนำนี้ คือ ยุคโรแมนติค (Roamntic Period) ช่วงเวลา ค.ศ. 1820 – 1900 ซึ่งตามประวัติศาสตร์ดนตรีตะวันตก ในยุคโรแมนติคนี้เกิดมีคีตกวีมากมาย ทั้งบทเพลงก็มีรูปแบบการประพันธ์ที่วิวัฒน์มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเสียงประสานและเทคนิคก็ให้เกิดความเข้มข้นของอารมณ์เพลงอย่างยิ่ง ดนตรีได้เป็นเครื่องมือเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกภายในของมนุษย์อย่างชัดเจน แม้ดนตรีเกี่ยวกับศาสนายังมีอยู่ แต่ก็มีบทบาทลดลงเมื่อเทียบกับดนตรีเพื่อมวลชน มีหลายคนเข้าใจผิดว่า ดนตรีโรแมนติคต้องเกี่ยวข้องกับอารมณ์รักใคร่ อ่อนหวาน หรือรุนแรง อย่างเดียว แต่หากที่จริงแล้ว ดนตรีในยุคโรแมนติคมีความหลากหลายทางแนวคิดอย่างมาก ตัวอย่าง เช่น ดนตรีชาตินิยม (Nationalism) ของซีเบลิอุส (Sibelius) ที่มีชื่อว่า ฟินแลนด์เดีย (Finlandia) ดังที่ ไพบูลย์ กิจสวัสดิ์ ให้ความเห็นว่า ฟินแลนด์เดีย เป็นงานซิมโฟนิคโพเอ็ม ที่มีความสำคัญเป็นสัญลักษณ์แห่งชาตินิยมของชาวฟินแลนด์ เพราะความรุนแรงของบทเพลงทำให้ทางการรัสเซียต้องสั่งห้ามนำออกแสดงในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1899 น่าแปลกที่บทเพลงนี้ไม่ได้มีคำร้องเนื้อร้องประการใด แต่ความเข้มข้นของบทเพลงสามารถตรึงใจผู้ฟังให้เกิดความรู้สึกเลือดรักชาติได้ ในขณะเดียวกันดนตรีบางประเภทงานประพันธ์กลับตรงกันข้าม เช่น โยฮัน สเตร้าส์ (ลูก) (Johann Strauss II) ที่สร้างสรรค์ดนตรีประเภทเพลงเต้นรำจังหวะ Waltz จนกล่าวได้ว่า เป็นประเภทของ Vienna Waltz ซึ่งแสดงถึงความรื่นรมย์ ไม่มีความเศร้าโศกในบทเพลงเลย นี่เป็นความหลากหลายของความเป็นดนตรีโรแมนติคที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ดนตรีร่วมสมัย คือ อะไร คำนิยามของ การร่วมสมัย คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ช่วงขณะเดียวกันในโลกนี้แต่ละที่แต่ละแห่งบนพืนโลกกำลังทำกิจกรรมอะไร กำลังดำรงชีวิตอยู่อย่างไร นั่นคือ การร่วมสมัย กิจกรรมบางอย่างอาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และยังยืดถือปฏิบัติดำรงอยู่ เช่น ศาสนา ประเพณี ในขณะที่บางอย่างเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ เช่น แฟชั่นการแต่งกาย เทคโนโลยีต่าง ๆ ดังนั้นมนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความหลายหลาก โลกยุคนี้กล่าวได้ว่าเป็นยุคแห่งข่าวสารและการศึกษาตลอดชีวิต เราจึงควรต้องแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อจะได้เข้าใจและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง แนวความคิดเรื่อง ดนตรีร่วมสมัย อาจนิยามได้โดยอนุมานกับการร่วมสมัยของสิ่งอื่น ๆ เช่น วัฒนธรรม ประเพณี การดำรงชีวิต ดังที่ Mark Slobin และ Jeff Todd Tition อ้างถึงใน อรวรรณ บรรจงศิลป กล่าวว่า วัฒนธรรมทางดนตรีเปรียบเสมือนโลกของดนตรี ทุกสังคมมนุษย์มีดนตรี แต่ดนตรีมิใช่ Universal เพราะดนตรีในความหมายของคนแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน
วัฒนธรรมทางดนตรีประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 อย่าง ซึ่งมีความสัมพันธ์กันได้แก่
1. แนวความคิดเกี่ยวกับดนตรี
     1.1 ดนตรีและระบบความเชื่อ ความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อว่าดนตรีมี ประโยชน์หรือมีโทษ ความเข้าใจหรือความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมในแต่ละกลุ่มชน  1.2 สุนทรีย์ทางดนตรี คนแต่ละคนมีความเข้าใจเรื่องสุนทรียศาสตร์ไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน เช่น นักร้องคลาสสิก ไม่เข้าใจว่านักร้องแจ๊สมีความไพเราะอย่างไร
     1.3 สภาพแวดล้อมทางดนตรี ความเจริญทางสังคมและเทคโนโลยี ก่อให้เกิดสภาพ แวดล้อมใหม่ แม้แต่ดนตรีก็ถูกสร้างสภาพแวดล้อมได้เช่นเดียวกัน เช่น ดนตรีธุรกิจ ที่เปิดตลอดเวลาไม่ว่า โทรทัศน์ วิทยุ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ย่อมทำให้คนในสังคมนั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมดนตรีที่ถูกสร้างขึ้นตลอดเวลา
2. ระบบสังคมทางดนตรี ดนตรีไม่ใช่เครื่องแบ่งชนชั้น แต่สังคมและมนุษย์ต่างหากที่แบ่ง ชนชั้นทางดนตรี เช่น กลุ่มคนทำงาน ก็จะร้องเล่นแต่เพลงที่พวกเขาชอบ คนที่มีการศึกษาสูงก็นิยมเพลงดนตรีอีกประเภทหนึ่ง
3. บทเพลงสำหรับแสดง
     3.1 สไตล์ของดนตรี (Style) คือ องค์รวมอันได้แก่ ระดับเสียง ทำนอง จังหวะ และการประสานเสียง
     3.2 ประเภทของเพลง (Qunres) คือ ชื่อต่าง ๆ ที่จัดกลุ่มให้บทเพลง เช่น เพลง สรรเสริญ (ตัวอย่างเช่น เพลง Chantsong , เพลง Praise song) เพลงเต้นรำ (เช่น Waltz , Tango )
     3.3 คำร้อง (Texts) เกิดจากความสัมพันธ์ของภาษากับดนตรี เพลงร้องสามารถสื่อเข้า ไปในจิตใจได้โดยตรงกับผู้ที่เข้าใจภาษานั้น ๆ
     3.4 การแต่งเพลง (Composition) เพลงทุกเพลงล้วนแต่งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ ทั้งสิ้น การแต่งอาจแบ่งได้ 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ การแต่งอยู่ในกรอบ (Variation) และการแต่งแบบอิสระทันที (Improvisation ) ความสำคัญประการหนึ่งของการแต่งเพลง คือ การจัดระเบียบสังคม เพราะเพลงสะท้อนถึงแนวความคิดของคนในสังคมนั้น
     3.5 การถ่ายทอด (Transmission) ตระกูลนักดนตรีมักถูกถ่ายทอดมาด้วยการดูตัวอย่าง และเลียนแบบ (Oral Tradition) ส่วนดนตรีในระบบการศึกษาถ่ายทอดด้วยการเรียนรู้อย่างเป็นแบบแผน
     3.6 การเคลื่อนไหวร่างกายประกอบดนตรี (Movement) ดนตรีก็ให้เกิดการ เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นดนตรีชนิดหยาบที่สุดหรือละเอียดที่สุดก็ตาม ไม่สามารถแยกการเคลื่อนไหวร่างกายมนุษย์ออกจากดนตรีได้
4. วัฒนธรรมทางด้านวัสดุของดนตรี วัสดุดนตรี คือ สิ่งที่ถูกจับต้องได้ทุกอย่าง ไม่ว่า จะ เป็นเครื่องดนตรี หรือเอกสาร รวมถึงการปฏิวัติของข้อมูล (Information Revolution) ในศตวรรษที่ 20 ด้วย องค์ประกอบทั้ง 4 ของวัฒนธรรมดนตรีที่กล่าวมานี้ เป็นการอธิบายคำจำกัดความของดนตรีร่วมสมัยได้ชัดเจนขึ้น แม้ดนตรีทุกวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงขึ้นทุกวัน มีการผสมผสานเพื่อสร้างสิ่งใหม่ การอนุรักษ์ดนตรีดั้งเดิม การนำเสนอรูปแบบดนตรีในลักษณะใหม่ การสร้างระเบียบวีธีการทางดนตรีใหม่ ฯลฯ ความพยายามทั้งหลายเหล่านี้มิได้ทำให้ดนตรีมีหน้าที่หรือบทบาทใหม่ขึ้นแต่ประการใด แต่หากกับชี้ตัวตนที่แท้จริงของดนตรีให้ชัดเจนมากขึ้นอีก

หนังสืออ้างอิง
-ประสิทธิ์ เลียวสิริพงศ์.(2538). ประวัติดนตรีตะวันตกโดยสังเขป. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: จงเจริญการพิมพ์ __________________. (2545).
-ปทานุกรมดนตรีสากล.(พิมพ์ครั้งที่ 1). เชียงใหม่ : เชียงใหม่โรงพิมพ์ แสงศิลป์.
-พิชัย วาสนาส่ง. (2547). เพลงเพลินใจ. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพฯ.
-ไพบูลย์ กิจสวัสดิ์.(2535). คีตกวี ปรัชญาเมธีแห่งภาษาสากล. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ:วัชระออฟเซ็ท.
-ละเอียด เหราปัตย์. (2522). วิวัฒนาการของดนตรีสากล. กรุงเทพฯ.
-ศักดิ์ชัย หิรัญรักษ์.(2547). ดนตรีเป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาด้านสติปัญญาทางอารมณ์.
-วารสารเพลง ดนตรี , 10(6) , 19.
-ศศี พงษ์สรายุทธ.(2544). ประวัติและวรรณคดีดนตรีตะวันตก. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ.
-อรวรรณ บรรจงศิลป์. (2547). แนวความคิดเกี่ยวกับดนตรี.
-วารสารเพลงดนตรี.10(6) , 70-73.

อ้างอิงจาก http://ethnomusicology.is.in.th/?md=content&ma=show&id=3

 

 

This free website was made using Yola.

No HTML skills required. Build your website in minutes.

Go to www.yola.com and sign up today!

Make a free website with Yola